Frankenstein in Baghdad (2018) | Ahmed Saadawi
There were many missing people, and some of them were bound to come back.
เสียงระเบิดดังราวโลกถล่มบริเวณจัตุรัสทายารัน ใจกลางกรุงแบกแดด หญิงชรานั่งนิ่งบนรถเมล์สนิทสนมกับความหวาดกลัว ใจคิดถึงแต่แดเนียลลูกชายผู้หายสาบสูญในสงคราม เธอเชื่อเสมอ.. วันหนึ่งเขาจะกลับมา ฮาดิชายแก่ขี้เมานักเก็บของเก่าขาย ก้มลงเก็บอวัยวะเกลื่อนถนนเป็นจมูกของชายคนหนึ่งกลับบ้าน ขณะที่ร่างของยามเฝ้าโรงแรมแตกเป็นเสี่ยงเมื่อรถระเบิดพลีชีพพุ่งชน วิญญาณของเขากำลังล่องลอยตามหาร่าง
แฟรงเกนสไตล์ในแบกแดด เป็นนิยายเชิงเปรียบเทียบแบบตลกร้ายเหนือจริง ซาดาวีหยิบสัญลักษณ์แฟรงเกนสไตล์มาสะท้อนความแตกแยกในอิรัก ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบรุนแรงยังมีชีวิตที่ต้องดำเนินต่อ วิถีท้องเมืองสภาพสังคมถ่ายทอดผ่านตัวละครกลุ่มหนึ่งที่อยู่ละแวกเดียวกันในเหตุการณ์เดียวกัน มุมมองเล็ก ๆ ของหลายชีวิตสื่อความหมายให้ภาพใหญ่มีมิติลึกซึ้ง
ฮาดิเก็บอวัยวะมาเย็บปะติดปะต่อศพเพื่อนสนิทให้ครบร่าง ตอนเราเจอเขา ๆ กำลังต่อจมูกชิ้นสุดท้ายเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ขณะที่วิญญาณยามเร่ร่อนตามหาร่างเพราะความเชื่อที่ต้องการไปผุดไปเกิด จึงเข้าสิงร่างไร้วิญญาณบริบูรณ์นี้ แฟรงเกนสไตล์ฟื้นชีวิตขึ้นใหม่ ฮาดิตั้งชื่อว่า ”มันชื่ออะไร” ส่วนหญิงชราข้างบ้านเรียกเขาว่าแดเนียล
ภาระกิจหลักคือออกตามล่าฆาตกรที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ประกอบเป็นอวัยวะบนตัวเขา แล้วอวัยวะผู้นั้นจะหลุดจากร่างทีละชิ้นจนกายสลายในที่สุด แต่เรื่องของเรื่องคือมีคนเอาเศษอวัยวะใหม่มาแปะเรื่อย ๆ แล้วเขาจะทำอย่างไรดี คำรำพึงหนึ่งสะท้อนความแตกแยกรุนแรงในประเทศนี้ เมื่ออวัยวะคนมากมายมาจากคนต่างเผ่าต่างชนชั้นต่างเชื้อชาติ เขาเป็นตัวแทนในสิ่งที่คนเหล่านี้ไม่เคยรวมกันได้ในอดีต เขาจึงเป็นประชากรแท้จริงคนแรกของอิรัก
ชวนอ่านความงามวรรณกรรมอิรัก สนุกทรงพลังเหลือเกิน