การบินไทยรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ
ใครผ่านไปแถวสี่แยกหลักสี่ คงเคยเห็นอาคารรูปร่างแปลกตาสีเทาสองหลังตั้งอยู่ริมถนนโลคัลโรด พื้นที่กว้างขวางบริเวณนี้เรียกรวมกันว่าศูนย์ฝึกอบรมลูกเรือการบินไทย สถานที่แห่งนี้เคยเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิบัติหน้าที่ของลูกเรือการบินไทยก่อนทำการบิน ก่อนจะย้ายไปยังอาคารปฏิบัติการบิน (OPC) บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน

อาคารใหญ่ด้านหลังเป็นที่ตั้งของฝ่ายฝึกอบรมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (BQ) หรือโรงเรียนสำหรับผลิตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมทั้งหน่วยงานด้านความปลอดภัยในการบิน Flight Safety Training ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเป็นหน่วยงานสำคัญในการฝึกความพร้อมของลูกเรือก่อนการปฏิบัติงานจริง
นอกจากลูกเรือการบินไทยจะต้องเข้ารับการฝึกเพื่อความเป็นเลิศในด้านการบริการแล้ว ลูกเรือทุกคนต้องเข้ารับการฝึกด้าน Emergency เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและผู้โดยสารในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน
ภายในห้องโถงใหญ่ของอาคารฝึกอบรมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน มีอุปกรณ์ทันสมัย ที่เรียกว่า Cabin Emergency Evacuation Trainer A300-600/B747 หรือ Cabin Simulator ซึ่งประกอบด้วย Cockpit ของเครื่องบินแบบแอร์บัส A300-600, ส่วนห้องโดยสารของเครื่องบินแบบ A300-600 (บริเวณประตู 2R), ส่วนห้องโดยสารของเครื่องบินแบบ B747-400 (บริเวณประตู 4R), มีตัวสร้างไฟและควันเพื่อความสมจริงในการฝึก, ระบบการเคลื่อนไหวของเครื่อง Cabin Simulator ที่สามารถแกว่งไปมา (Roll Motion) ได้ถึง +/- 15 Max ในความสูง (Pitch Motion) +/- 5 Max , รวมทั้งตัวควบคุมการ Inflation ของ Slide ทั้งสองตัว

นอกจากเครื่อง Cabin Simulator แล้ว ยังมีประตูเครื่องบินแบบต่าง ๆ สำหรับใช้ในการฝึกเปิดปิดประตูของลูกเรืออีกด้วย ประตูจำลองที่ใช้ในการฝึกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จึงสามารถกำหนดเงื่อนไขให้กับประตูได้หลายสถานการณ์เพื่อความสมบูรณ์และสมจริงในการฝึก
เพื่อความพร้อม ลูกเรือจะต้องเข้ารับการฝึกและทบทวนการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของตนเองและผู้โดยสารอันเป็นหัวใจของการทำการบิน ลูกเรือการบินไทยจะได้รับการฝึกในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและเข้มข้น รวมทั้งการ ditching หรือการอพยพผู้โดยสารออกจากตัวเครื่องหากเครื่องบินต้องร่อนลงฉุกเฉินในน้ำ
รวมไปถึงการผจญเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการทำการบิน

นอกจากการฝึกในเรื่องดังกล่าว ลูกเรือการบินไทยจะได้รับการทบทวนขั้นตอนการช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีอื่น ๆ เช่นการฝึกการช่วยชีวิตหรือ CPR โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้โดยสารจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาคคิดระหว่างการเดินทาง
CRM หรือ Crew Resources Management เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรสำคัญที่ลูกเรือจะได้รับการอบรมทบทวนพร้อมกันไปด้วย โดยเป็นการอบรมร่วมกัน (joint training) ระหว่างลูกเรือ นักบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำการบินอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเพิ่มความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้ผู้โดยสารได้รับความปลอดภัยสูงสุดตลอดการเดินทาง
จึงมั่นใจได้ว่า นอกจากผู้โดยสารจะได้รับการบริการอันเป็นเลิศแล้ว การบินไทยยังรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารทุกท่านอีกด้วย