I’ll Be Gone in the Dark (2018) | Michelle McNamara

review by Kukee

I’ll Be Gone in the Dark (2018) | Michelle McNamara

You’ll be silent forever and I’ll be gone in the dark.

อาทิตย์ก่อนมีข่าวใหญ่ในอเมริกาเรื่องการจับ Golden State Killer อาชญากรชวนเขย่าขวัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ กว่า 40 ปีที่ตำรวจควานหาตัวแต่ไม่เคยเจอ ชายคนนี้ก่อคดียาวเป็นหางว่าว 12 คดีฆาตกรรม 55 คดีข่มขืน ลักทรัพย์ในบ้านอีกเป็นร้อย มีผู้ต้องสงสัยมากถึงแปดพันคน จับผิดเข้าคุกไปหลายคน เปลี่ยนทีมสอบสวนมาหลายรุ่น สารคดีเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขา ผู้เกี่ยวข้องในคดี หลักฐาน รูปแบบอาชญากรรมและการพยายามติดตามค้นหาเท่าที่วิทยาศาสตร์เอื้ออำนวย

Golden State Killer ก่อคดีในหลายพื้นที่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เดือนมิถุนายน 1976 ละแวกแรนโชคอร์โดวา ขณะที่ผู้คนกำลังหลับใหลยามวิกาล ชายคนหนึ่งบุกทำร้ายข่มขืนหญิงสาววัย 23 ปีภายในบ้าน เพียงปีเดียวก่อคดีกระทำชำเรา 22 ครั้ง ทั้งหมดเกิดที่ซาคราเมนโต้ตะวันออก จนได้รับฉายาว่า EAR ย่อมาจาก East Area Rapist ครั้งที่ 16 เขาเปลี่ยนเป้าหมายจากผู้หญิงตัวคนเดียวย่องเข้าบ้านคู่แต่งงาน (หลังการประชุมระหว่างชาวบ้านกับตำรวจเพื่อหามาตรการป้องกัน มีคนตั้งข้อสังเกตว่าผู้ร้ายหลีกเลี่ยงบ้านที่มีคู่เพราะอาจเกิดการต่อสู้ ตำรวจสันนิษฐานว่าเขาต้องอยู่ในที่ประชุม)

พฤติกรรมรูปพรรณสัณฐานคนร้ายตรงกัน ผมสีทอง สูงประมาณ 178 ซม. รูปร่างผอมแข็งแรง เสียงแหบแห้ง พกไขควง กระบอกไฟฉายไว้ส่องตาเหยื่อ ใส่ถุงมือ สวมหน้ากากสกี รองเท้าเทนนิสเบอร์ 9 มีเชือกรองเท้าไว้ผูกปมไดมอนด์มัดมือเหยื่อ ส่วนอาวุธคือข้าวของในบ้าน เข้านอกออกในรู้พฤติกรรมเจ้าของบ้านดีแต่ไม่มีใครทราบว่าเลือกเหยื่ออย่างไร ที่แน่ ๆ ต้องรู้จักพื้นที่เพราะบ้านที่เกิดเหตุห่างกันไม่มาก คนร้ายชอบโทรหาเจ้าของบ้านก่อนหรือหลังเกิดเหตุ พูดสั้น ๆ ไม่ก็วางหูแบบหนังสยองขวัญ เขาใช้วิธีย่องเข้าบ้านปิดไฟทุกดวง เดินไปห้องนอน ให้ผู้หญิงมัดเชือกผู้ชาย เอาสิ่งของวางไว้บนตัวผู้ชายสั่งว่าห้ามทำหล่น ถ้าหล่นจะกลับมาฆ่า หากบ้านไหนมีเด็กจะจับขังโดยไม่ทำร้าย ก่อนกลับหยิบของติดมือเป็นที่ระลึก เช่นแหวน ใบขับขี่ บ่อยครั้งที่กินนมหรืออาหารในตู้เย็นทิ้งร่องรอยอย่างสบายใจ

ความโหดร้ายเพิ่มขึ้นเมื่อลงมือฆ่าคนและข้ามเขตไปเมืองอื่น คนในซาคราเมนโต้หวาดผวาหวั่นวิตกไม่รู้ว่าใครจะเป็นรายต่อไป พวกเขาสลับกันออกตระเวนยามจนเช้า หลักฐานถูกรวบรวมไว้หมดหากปราศจากรอยนิ้วมือ มีคราบเลือด อสุจิแต่ไม่สามารถเชื่อมโยงถึงตัวคนร้าย ตำรวจต่างท้องที่ได้แต่แลกเปลี่ยนข้อมูลที่คล้ายคลึงกัน ในข้อเท็จจริงแล้วไม่มีใครรู้ว่าคนเดียวกันหรือไม่ เขาฉลาดนำหน้าคนอื่นหลายก้าวเสมอ

หลังหายไปห้าปี เขากลับมาก่อคดีสุดท้ายในปี 1986 สี่คดีก่อนหน้านั้นเกิดในซานตาบาบาร่า เป็นฆาตกรรมสุดเหี้ยมโหดสยดสยองมาก DNA ในรอยนิ้วมือถูกค้นพบเมื่อปี 1984 เทคโนโลยีเกี่ยวกับดีเอ็นเอพัฒนานำมาใช้เกี่ยวกับอาชญากรรมช่วงต้นทศวรรษ 90′ ก่อนประกาศเป็นกฎหมายในปี 1994 เอฟบีไอเริ่มสร้างฐานข้อมูลดีเอ็นเอแห่งชาติ หลักฐานเดิมของ Golden State Killer ถูกนำมาตรวจทำให้รู้โครงสร้างดีเอ็นเอ นอกจากเลือดกรุ๊ป A เขายังอยู่ในประเภท nonsecretor มีแอนติเจนในกรุ๊ปเลือดที่ไม่ปรากฎในน้ำลาย อสุจิหรือของเหลวในร่างกาย (20 % ของประชากร) โปรตีนเอนไซม์พีจีเอ็มผิดปกติเป็นยีนส์พันธุกรรมที่หายาก (1% ของประชากร)

ต่อมาปี 2000 ความก้าวหน้าเทคโนยีดีเอ็นเอทำให้รู้ว่าชายที่ก่อคดีทั่วรัฐเป็นคน ๆ เดียวกัน ผู้เขียนเรียกเขาว่า Golden State Killer การค้นหาตัวยังดำเนินต่อ ตำรวจ เอฟบีไอ ผู้เชี่ยวชาญอาชญกรรมวิทยาอย่างพอล โฮลส์ รวมถึงผู้เขียนคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลวิธีการเพื่อจะจับให้ได้ก่อนทุกคนลืม ฐานข้อมูลของรัฐเก็บข้อมูลอาชญากรนั้นไม่มีข้อมูลเขา เพราะเขาและญาติไม่เคยทำผิดไม่มีประวัติ ดีเอ็นเอไม่สามารถบอกชื่อหรือใบหน้าของใครได้

ผู้เขียนเสียชีวิตในปี 2016 (หนังสือขายกุมภาพันธ์ปีนี้) ภาคสุดท้ายรวบรวมบันทึก มีข้อสังเกตระบุวิธีที่ควรใช้จับซึ่งตรงตามข่าว แม้ทางการจะแถลงว่าไม่เกี่ยว มิเชลเป็นเพื่อนกับพอล โฮลส์ พวกเขาเคยแอบค้นหาข้อมูลจากฐานดีเอ็นเอโครงสร้างต้นไม้พันธุกรรมของเอกชนด้วยการสร้างโปรไฟล์ปลอม ระบบนี้เป็นที่นิยมไว้สืบค้นหาญาติโดยผู้ใช้ต้องยินยอมตรวจดีเอ็นเอ ระบบจะโหลดจับคู่ตัวบ่งชี้ซึ่งจะปรากฎรายชื่อตามความน่าจะเป็นของมาร์คเกอร์ซึ่งมีหลายค่ามาก หรือหาไม่เจอเลยเพราะไม่มีญาติมาใช้ ฐานข้อมูลนี้ใหญ่โตหลายล้าน สำคัญคือคนใช้ไม่ใช่อาชญากร การหาคนร้ายจากวงศ์ตระกูลจึงเป็นความหวังเดียวที่น่าพอเป็นไปได้ ปัญหาคือผิดกฎหมายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือเปล่าหากนำไปหาอาชญากรและการกรอกผลมาร์คเกอร์จากกระดาษที่เคยตรวจมักไม่ได้ผล ต้องใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอจริงเท่านั้นเพราะความก้าวหน้าการแปลงค่าดีเอ็นเอนั้นต่างไป

บทสุดท้ายเป็นจดหมายถึงชายชรา ลงท้ายด้วยคำพูดด้านบนที่เขาใช้ขู่เหยื่อ มิเชลบอกว่า Open your door. Show us your face. Walk into the light. เธอไม่สนใจหรอกว่าใครจะจับได้ ขอให้จับได้เป็นพอ หนังสือเขียนดีอ่านสนุก ลืมไปเลยว่าฆาตกรรม


หมายเหตุ

24 เมษายน 2018 ตำรวจบุกจับนายโจเซฟ เจมส์ ดีแองเจโล วัย 72 ปี ที่ซาคราเมนโต้ น่าตกใจคือเขาก่อเหตุตอนเป็นตำรวจออเบิร์นแถวที่เกิดเหตุ เคยเป็นนาวิกโยธินไปรบสงครามเวียดนาม รับราชการตำรวจปี 1973- 1979 โดนไล่ออกเพราะขโมยของในร้าน แต่งงานปี 1973 มีลูกสาวสามคน

พอล โฮลส์เพิ่งพบหลักฐานตัวอย่างดีเอ็นเอที่ยังไม่ใช้เก็บใส่ตู้เย็นมาตลอด 37 ปี เนื่องจากดร.ปีเตอร์ สเป็ทด้วยความรอบคอบเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอสองชุดเสมอ หากชุดหนึ่งใช้ไปแล้วต้องสำรองไว้เผื่อจำเป็น โฮลส์รีบดำเนินการด้วยความเห็นชอบจากทางการทั้งที่ตอนแรกไม่เห็นด้วย มกราคมปีนี้ค้นหาข้อมูลจาก GEDmatch ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายฐานได้รายชื่อจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ง่ายอย่างงั้น ต้องทำโครงสร้างต้นไม้หาข้อมูลทุกทางเพื่อย้อนหาคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล จนเจอต้นตระกูลปี 1800 แตกรากไป 25 สายมีสมาชิกกว่าพันคน

แล้วทีมสืบสวนค่อยคัดกรองจนเหลือผู้ต้องสงสัยสองคนในพื้นที่ จากนั้นส่งคนไปเฝ้ารอนอกบ้านเพื่อหาดีเอ็นเอจากถุงขยะ ในที่สุดผลดีเอ็นเอตรงกันเป๊ะ ดีแองเจโลใบหน้าเรียบเฉยตอนโดนจับ เขาพูดแค่ว่ามีอาหารอยู่ในเตาอบ วันศุกร์เขาใส่ชุดสีส้มนั่งรถเข็นขึ้นศาล เสียงที่เปล่งออกจากลำคอแหบแห้ง สยดสยองจริง