เรื่องและภาพโดย กำแหงหาญ
เพิ่มข้อความในภาพโดย myoldeditor
...............................
อย่าว่าแต่สจ๊วตไทยอย่างที่เห็นในภาพเลย ต่อให้หนุ่มไทยหรือหนุ่มชาติไหนก็ตามที่คุยว่ารักเดียวใจเดียวไม่มีว่อกแว่ก ลองมาเจอหม้อเก่าซึ่งมีน้ำหนักมากยกแทบไม่ขึ้นแบบนี้ก็ต้องเมินหน้าหนีด้วยกันทั้งนั้น ขณะที่หม้อแบบใหม่ซึ่งมีขนาดปริมาตรเท่ากัน (จะเขียนให้อ่านยากทำไม) เอาเป็นว่าจุน้ำชา กาแฟได้ในปริมาณเท่ากัน แต่น้ำหนักเบากว่า ด้วยวัสดุที่นำมาทำหม้อรุ่นใหม่นั้นก้าวล้ำนำหน้าไปไกล แล้วอย่างนี้จะไม่ให้พวกเราสจ๊วตไทย เมินหม้อเก่า แล้วหันไปหลงใหลหม้อใหม่ได้ยังไง

หม้อเก่าแบบที่ "น้องปรินซ์" ถืออยู่เราใช้กันมานานนับสิบปี อย่างน้อยที่สุดก็สิบห้าปี สภาพโดยรวม ดูเผินๆ ก็นับว่าอยู่ในสภาพดีเพราะได้รับการดูแลเอาใจใส่มาตลอด แต่แน่นอนของใช้งาน-ผ่านหลายมือ จะให้สมบูรณ์พร้อมเหมือนของใหม่ป้ายแดงย่อมเป็นไปไม่ได้ ส่วนที่เป็นปัญหาที่สุดสำหรับผู้ใช้งาน (ก็แอร์หรือสจ๊วตนั่นแหละ) คือน้ำหนักที่โค-ตะ-ระ หนักของมัน และมักสร้างปัญหาบาดเจ็บนิ้ว ข้อมือ และแขนให้ลูกเรืออยู่เนืองๆ อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ นะ เพราะปัญหาที่ว่ามักสร้างปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรังให้ลูกเรือ เกิดอาการนิ้วล๊อค เอ็นฉีก ขาด บวม ท้ายสุดต้องเข้ารับการผ่าตัด ต้องลางาน พักงาน หรือถึงกับต้องออกจากงานก็มีมาแล้ว
อย่าหาว่าผมกระแดะเลย ผมผู้ชายแท้ๆ ทั้งแท่งที่ยังแข็งแรงเตะปี๊บดังและกระเด็นไกลเป็นวา ก็พูดได้เต็มปากว่าหม้อรุ่นนี้มันหนักเอาเรื่องจริงๆ
นอกเหนือจากวัสดุรุ่นเก่าที่นำมาทำหม้อซึ่งโคตรหนักแต่แข็งแรงทนทานปานแรดแล้ว ด้วยการใช้งานมานาน ส่วนประกอบของหม้อ (นอกเหนือจากตัวหม้อ) จึงพากันชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แม้จะ repair กันบ่อยๆ ก็หนีความเสื่อมไปไม่พ้น (ความจริงใช้คำว่า maintenance น่าจะดีกว่า ห้าห้า) ไม่ว่าจะเป็นปลายพวยบุบบี้ที่ทำให้ทิศทางการรินตามปกติหักเห (แทนที่จะรินลงถ้วยก็ไปรินลงตักผู้โดยสาร) มือจับโลหะที่บิดเบี้ยวไม่เข้ารูป การรั่วซึมตามข้อต่อ รอยเชื่อม ฯลฯ

พวกเราก็ได้แต่บ่น แม้จะเก่าทรุดโทรมแค่ไหน แต่เมื่อโหลดขึ้นมาบนเครื่องแล้วก็ต้องทู่ซี้ใช้กันไปตามสภาพไม่มีทางเลือก ในภาพจะเห็น "เอก" ลูกเรือไทยรุ่นกลางๆ กำลังประคบประหงมหม้อกาแฟในมือยังกะลูก เป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องดูแลหม้อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ จะให้อุด ให้อ๊อก ให้เชื่อมเราคงทำไม่ได้ แต่เมื่ออยู่ในความดูแลของเรา ความสะอาดของหม้อต้องมาก่อนเป็นลำดับแรก
ก่อนอื่น สจ๊วต Professional ต้องทำความสะอาดหม้อด้วยน้ำร้อน เขย่าสิ่งแปลกปลอมที่อาจติดค้างอยู่ในหม้อ และก่อนจะนำออกไปเสริฟทุกครั้ง ก็ต้องเช็ดตัวหม้อและก้นหม้อเพื่อกำจัดคราบสกปรกและเผยให้เห็นเนื้อหม้อที่หล่อจากแสตนเลสมันวาว และหลังให้บริการผู้โดยสาร ก็ต้องล้างหม้อให้สะอาด และเช็ดทำความสะอาดตามสมควรก่อนจะเก็บเข้าที่ เตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานครั้งต่อไป
ในสมาคมลูกเรือไทย เรามีหน่วยงานย่อยชื่อยาวเหยียด เรียกสั้นๆ ว่า หน่วยอนามัยลูกเรือ มีหน้าที่คอยดูแลสุขภาพอนามัยของลูกเรือ ติดตาม เก็บสถิติการบาดเจ็บของลูกเรือจากการทำงาน ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุง แก้ไขอุปกรณ์ หรือปรับเปลี่ยน procedure การทำงาน ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้เพื่อให้ลูกเรือไทยได้รับความสะดวกและปลอดภัยสูงสุดจากการทำงาน เพราะเหตุดังนี้ หลังจากได้รับรายงานว่ามีลูกเรือจำนวนมากมีอาการบาดเจ็บจากหม้อ (ท่าทางในการยกหม้อ-ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการบาดเจ็บเรายังไม่พูดถึง) จึงมีการผลักดัน-ประชุมหารือเพื่อสรรหาหม้อรุ่นใหม่ที่ดีขึ้น หารือกันยาวนานนนนนนน..... ในที่สุดเราจึงได้หม้อใหม่ไฉไลกว่าเดิม รูปทรงทันสมัยและน้ำหนักเบา โดยเฉพาะมือจับหุ้มยางที่ทำให้พวกเราทำงานสะดวกสบายปลอดภัยมากขึ้น ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา ณ โอกาสนี้

จะเห็นสีหน้าของ "น้ำแข็ง" น้องสจ๊วตรุ่นกลางๆ กับ "เอ๊ด" สจ๊วตรุ่นเดอะที่ออกอาการมีความสุขมากกับการได้ใช้หม้อใหม่ แต่ขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการโหลดหม้อขึ้นเครื่องว่า ทำไมจึงโหลดหม้อรุ่นใหม่ขึ้นมาเฉพาะไฟลท์ในประเทศหรือ Regional เท่านั้น ส่วนเส้นทางไกลๆ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียที่สจ๊วตรุ่นเก่าๆ บินกันเนี่ยมีแต่หม้อรุ่นเก่าให้ใช้ เห็นสจ๊วตเก่าๆ ไม่มีหัวใจหรือยังไง
ผมตอบแทนก็ได้: ก็หม้อใหม่มันยังไม่พอนะสิเพ่ ตอนนี้ใช้หม้อเก่าไปพลางๆ ก่อนและกัน อ้อ! ความจริงเรียก "กา" ก็ได้นะ จะเรียก "หม้อ" กันทำไมให้สับสน
...............................
ฟ้องด้วยภาพ: สันดานสจ๊วตไทย ได้หม้อใหม่เมินหม้อเก่า
เรื่องและภาพโดย กำแหงหาญ
เพิ่มข้อความในภาพโดย myoldeditor