
a Love Story: รักเราโคตรเก่าเลย
เรื่องและภาพโดย กำแหงหาญ
เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสาร Take Off ฉบับเดือน พค.2551
..................................
ผมมาถึงศูนย์ลูกเรือก่อนเวลา จึงมีเวลาว่างทำธุระส่วนตัวหลายอย่าง รวมทั้งจัดการเคลียร์เอกสารมากมายที่หมกเป็นขยะอยู่ใน Personal Box แปลกใจที่มีหนังสือ "ปรัชญาชีวิต" ของคาริล ยิบราน ซุกรวมอยู่ในนั้น ผมหยิบขึ้นมาพลิกดูและพบกระดาษโน้ตสีชมพูสอดไว้ที่หน้าแรก

หน้าปกหนังสือปรัชญาชีวิต ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 2516
"ซื้อมาฝากคนแก่จ้ะ พลิกไปอ่านหน้า 82 ก่อนเลยนะ" แม้ไม่ได้ลงชื่อ แต่ผมจำลายมือเธอได้
"และชายหนุ่มคนหนึ่งพูดว่า ได้โปรดกล่าวถึงมิตรภาพ และท่านตอบว่า มิตรคือคำตอบต่อความต้องการของเธอ เขาเป็นเสมือนท้องทุ่ง ที่เธอหว่านด้วยความรัก และเก็บเกี่ยวด้วยความขอบคุณ และเขาเป็นดุจโต๊ะอาหารและร่มไม้ของเธอ ด้วยเหตุว่า เธอมาสู่เขาด้วยความหิวโหย และเธอใฝ่หาเขาเพื่อความสงบใจ และขออย่าได้มีความมุ่งหมายใดๆ ในมิตรภาพเลย นอกจากเพื่อขยายดวงวิญญาณให้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้น เพราะความรักที่มุ่งหวังเพื่อสิ่งใดอื่น นอกจากเพียงเพื่อเปิดเผยความล้ำลึกของตนเองนั้นมิใช่ความรัก แต่เป็นร่างแหที่ถูกเหวี่ยงทอดออก และจะจับเอาไว้ได้ก็แต่สิ่งที่ไร้คุณค่าเท่านั้น" *
..
ไม่ต้องตีความอันใดก็พอจะจับใจความได้ว่า เธอคงต้องการส่งสารบางอย่างให้ผมในนามของ "มิตรภาพ" มิใช่ "ความรัก" อดเสียใจไม่ได้เมื่อรู้ว่าเธอยังไม่ "รู้จัก" ผมดีพอ เธอคงลืมไปว่าผมไม่มีความรักเหลือเฟือพอจะแจกจ่ายให้ใครอย่างที่เธอคิด และผมก็มิใช่ผู้ชายประเภท หล่อเลือกได้ ที่สาวหน้าไหนจะติดใจได้ง่ายๆ แต่หากการกระทำของผมในอดีตจะทำให้เธอคิดไปอย่างนั้น ผมก็เต็มใจเอ่ยคำขอโทษ ผมอายที่จะบอกว่าเหงา แต่ผมก็ยอมรับกับตัวเองว่าผมมีความสุขกับชีวิตโดดเดี่ยว เรื่องราวระหว่างเราในอดีตไม่มีอะไรมากไปกว่าความทรงจำแสนงามที่ยากจะลืม เธออยากลืม ผมเองก็เช่นกัน
แต่มันก็เหมือนตะกอนนอนก้น ปั่นป่วนในความรู้สึกคราใดมันก็กลับมาอีกในห้วงคำนึง นั่นทำให้เราทั้งคู่เจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
..
เครื่องบินแอร์บัส 340-500 ร่อนลงที่สนามบินโคลเทน (Kloten) นครซูริค ในเช้าของวันที่ดวงอาทิตย์คงแอบงีบหลับอยู่ที่ไหนซักแห่ง ท้องฟ้าจึงขมุกขมัวคล้ายกับเวลาถูกหยุดไว้ สรรพสิ่งรอบตัวยังเงียบงัน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรทำหน้าเบื่อโลกเหมือนถูกบังคับให้ลุกขึ้นจากเตียงมาทำงาน เมืองทั้งเมืองยังไม่ตื่น!! บรรยากาศดูซึมเซาด้วยถูกปกคลุมด้วยหมอกบางสีเทา นั่นยิ่งทำให้คนขี้เหงาอย่างผมรู้สึกหดหู่หนักเข้าไปอีก
ผมคิดถึงฤดูใบไม้ผลิที่ท้องฟ้าสดใสไร้เมฆ วันที่ทุ่งนาและภูเขาเขียวขจีไปด้วยต้นหญ้าและดอกไม้ป่าที่แข่งกันออกดอกสีสวยต้อนรับแสงแดดอุ่นที่มันไม่ได้สัมผัสมานานแล้ว
ผมเดินฝ่าลมหนาวลากกระเป๋าไปยังรถบัสรับส่งลูกเรือ และสิ่งเหลือเชื่อที่มักเกิดขึ้นได้เสมอๆ ในชีวิตก็เกิดขึ้นเมื่อผมเปิดโทรศัพท์มือถือ มัน search หาสัญญาณอยู่สักพักก็มีเสียงเตือนการมาถึงของ sms "ถูกเรียกแสตนด์บาย เจอกันที่ซูริค" จากเธอนั่นแหละ แว่บแรกผมดีใจ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำตัวยังไงหากมีเธออยู่ใกล้ๆ พูดกันตรงๆ เราสองแยกทางกันมานานแล้ว และผมเชื่อว่าเราไม่มีอะไรค้างคาใจถึงกับขั้นต้อง เคลียร์ กันอีก แต่ในวันที่อารมณ์วูบไหว ผมจะเชื่อใจอะไรได้
..

รูป "เธอ" รูปเดียวที่ผมมีอยู่
ครึ่งวันหนึ่งคืนผ่านไปไวเหมือนโกหก เช้าวันรุ่งขึ้นผมแหกขี้ตาลงมาพบเธอที่ล๊อบบี้ ลูกเรือร่วมไฟลท์ของเธอดูจะรู้งานจึงปล่อยให้เราอยู่กันสองต่อสอง ...ผมเตรียมคำพูดไว้มากมาย แต่เหมือนเราทั้งคู่จะเป็นใบ้ไปชั่วขณะ
"สบายดีไม๊" ผมทักทายเธอเชยๆ แบบนี้แหละ
"ดีใจที่ได้เจอ ขอบคุณสำหรับหนังสือ" โอ๊ย พูดไปได้ไง แม่งโคตรเชย คิดอะไรเท่ๆ เก๋ๆ กว่านี้ไม่เป็นหรือไง เสียชื่อสจ๊วตเฒ่าจริงๆ
ช่วยเธอลากกระเป๋าใหญ่ขึ้นไปเก็บ แล้วเดินกลับห้องปล่อยให้เธอทำธุระส่วนตัวตามลำพัง (ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงนั่งเฝ้าดูอยู่ด้วย) ประเดี๋ยวเดียวเธอก็โทรมาชวนผมไปเดินเล่นในเมือง ...วันที่ผมเคยเดินกุมมืออุ่นของเธอริมทะเลสาบซูริคยังแจ่มชัดในความรู้สึกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ไปไหนมาไหนในตัวเมืองซูริค หากไม่เดินก็อาศัยรถรางหน้าตาเฉิ่มเชยแบบนี้แหละ

งานประดับกระจกสีเลื่องชื่อ
เรา็มาถึงสถานีรถไฟซูริคใน 15 นาทีต่อมาและพากันเดินเลียบแม่น้ำลิมมัท (Limmat) ไปถึงโบสถ์เฟรามึนสเตอร์ (Fraumuenster) อันสวยงามโอ่อ่า ผมชี้ชวนให้เธอดูงานประดับกระจกสี (Stained-glass) ฝีมือออกัสโต กีโคเมตติ (Augusto Giacometti) โดยเฉพาะผลงานของ Marc Chagall บนแท่นนักร้องประสานเสียงนั่นมีชื่อเสียงกว่าใคร ติดกันคือโบสถ์ซังท์เพเตอร์ (St.Peter) ซึ่งปรากฏในเอกสารเก่าแก่ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 857 การประดับประดาตกแต่งภายในตั้งแต่หน้าประตูโบสถ์จนถึงแท่นบูชาจะหนักไปทางศิลปะแบบบารอคซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันในศตวรรษที่ 17

โบสถ์ซังท์เพเตอร์

เนินลินเดนฮอฟ
แต่ส่วนที่เด่นที่สุดหนีไม่พ้นหน้าปัดนาฬิกาอันมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่าแปดเมตรซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป บนเนินสูงใกล้ๆ คือลินเดนฮอฟ (Lindenhof) ซึ่งในอดีตคือที่ตั้งของป้อมโรมัน ตรงนี้มีชัยภูมิที่ดีเพราะมองเห็นเมืองซูริคได้รอบทิศ ถ้าจำไม่ผิดผมเคยขโมยหอมแก้มเธอซะหนึ่งทีแถวๆ นี้แหละ

ยอดโดมคู่ของโบสถ์กรอสมึนสเตอร์เป็นแลนด์มาร์คของเมืองซูริค
ผมลงทุนจ่ายเงิน 2 ฟรังซ์เพื่อพาเธอเดินขึ้นสู่ยอดโดมโบสถ์กรอสมึนสเตอร์ (Grossmuenster) บันไดขึ้นสู่ยอดโดมเล็ก แคบและชัน เนื้อตัวเบียดกันบ้างนิดหน่อยผมก็มีความสุขล้นเหลือ ต้องบรรยายอะไรอีกเหรอ?

ในฤดูที่อากาศเป็นใจ ร้านกาแฟเก๋ๆ ริมทางแบบนี้หาได้ง่ายๆ ทั่วเมือง
ผมดีใจที่เห็นเธอมีความสุข ความรู้สึกดีๆ ในวันเก่าเหมือนจะกลับมาอยู่ใกล้ๆ
ผมอยากหาร้านกาแฟกลางแจ้งเก๋ๆ ซักร้านที่ดูเข้าท่า เลยเดินย้อนไปบริเวณจัตุรัสแบลวู (Bellevueplatz) แต่ก็หาร้านที่ถูกใจเธอไม่ได้ (ไม่ได้เจอกันนานเรื่องมากขึ้นแฮะ) จนต้องย้อนกลับทางเก่า ข้ามสะพาน Rathaus เดินเข้าตรอกซอยแคบๆ ในที่สุดก็ได้ที่นั่งในร้านอาหารน่ารักแห่งหนึ่งไม่ห่างจากโบสถ์เฟรามึนสเตอร์
..
ผ่านไปหลายชั่วโมง ไม่น่าเชื่อว่าผมและเธอจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังมากมาย ครั้งหนึ่งระหว่างคำสนทนา ผมแอบมองเข้าไปในดวงตาของเธอ และพบว่ามีรอยยิ้มวับวาวอยู่ในนั้น
แล้วเราก็ย้อนเดินย่ำกลับทางเก่า.... ถึงโรงแรมก็แยกทาง ...ห้องใครห้องมัน จนคืนหนึ่งราวหนึ่งอาทิตย์ต่อมา ผมมาถึงศูนย์ลูกเรือก่อนเวลา จึงมีเวลาว่างทำธุระส่วนตัวหลายอย่าง รวมทั้งจัดการเคลียร์เอกสารมากมายที่หมกเป็นขยะอยู่ใน Personal Box ผมไม่แปลกใจที่มีการ์ดเชิญงานแต่งงานสีชมพูวางสงบนิ่งอยู่ในนั้น ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะผมก็ได้การ์ดเชิญไปงานใครต่อใครอยู่บ่อยๆ
ผมหยิบขึ้นมาพลิกดูและพบกระดาษโน้ตสอดอยู่ในซอง มันเป็นบทกวีเก่าๆ ที่ผมชื่นชอบตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
อยากจะเพียงผูกพัน แต่สำคัญที่หัวใจ
เธอรักฉันแค่ไหน มากกว่าใครหรือไม่เลย
ไม่อยากจะผูกมัด ฉันจะหัดทำเฉยๆ
ถ้าเพียงเธอจะเคย มาเอื้อนเอ่ยให้มั่นใจ**
แม้ไม่ได้ลงชื่อ แต่ผมจำลายมือเธอได้...
..
*"ปรัชญาชีวิต" ของ คาริล ยิบราน แปลโดย ระวี ภาวิไล
** กวีโดยลูกน้ำ
a Love Story: รักเราโคตรเก่าเลย
เรื่องและภาพโดย กำแหงหาญ
เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสาร Take Off ฉบับเดือน พค.2551