เรื่องและภาพโดย กำแหงหาญ
.............................
โดยเฉพาะสังคมลูกเรือสายการบินใหญ่แห่งหนึ่งที่มีลูกเรือกว่าห้าพันคน ลูกเรือแต่ละคนมีประวัติความเป็นมา ประวัติการศึกษา ฐานะทางสังคม ภูมิหลังครอบครัว นิสัยใจคอ ฯลฯ แตกต่างกันจนผิดใจกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และหลายครั้งเกิดลุกลามใหญ่โตกลายเป็นเรื่องราวเส้นทับเส้น นั่นเป็นเพราะเราไม่รู้จักปรับตัว บ้างมีทิฐิ บ้างคุยโม้โอ้อวดทับถมคนอื่นว่าตัวเองเป็นลูกท่านหลานเธอ เธอคงลืมนึกไปว่า... การที่ตัวเองได้เข้ามาเดินเริ่ดเชิดหยิ่งอย่างทุกวันนี้ เป็นเพราะกำลังภายในของ "พ่อแม่บังเกิดเกล้า" ใช่เพราะฝีมือตัวเองซะเมื่อไหร่
เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งดังกล่าว ลูกเรือส่วนใหญ่ที่เจริญปัญญาและ "ได้คิด" จึงเลือกจะใส่หน้ากากเข้าหากันจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปซะแล้ว อย่างภาพที่นำมาแฉในวันนี้ เป็นหลักฐานว่าการใส่หน้ากากเข้าหากันของลูกเรือมิใช่เรื่องแปลกประหลาด โดยเฉพาะการใส่หน้ากากสวยงามซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานนับเป็นเรื่องที่ควรนำมาโอ้อวดด้วยซ้ำ
.............................
ภาพชุดนี้ผมถ่ายไว้สองสามปีก่อนเมื่อครั้งไปเวนิสกับน้องๆ แอร์สายการบินแห่งหนึ่งที่ขณะนั้นยังสดใสดั่งดอกไม้กลีบบางที่บอบช้ำด้วยต้องหยดน้ำค้างยามเช้า อะ ว่าไปนั่น... ทริป "มิลานและเวนิส" ครั้งนั้นเป็นทริปหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้ผมมิใช่น้อย แต่แม้จะคุ้นเคยและสนิทสนมขนาดไหน การใส่หน้ากากเข้าหากันก็ยังมิวายเกิดขึ้นจนได้...

มีร้านขายหน้ากากแบบนี้ทั่วเกาะเวนิส ราคาหลากหลายตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นขึ้นอยู่กับความละเอียด วิธีการ และวัสดุที่ใช้ ที่น้อง "แตงโม" สวมเป็นหน้ากากแฟนซีแบบที่เพิ่งเกิดขึ้นสมัยหลังๆ ผมเจอน้องแตงโมล่าสุดที่ "ร้านตู้เหลือง แฟรงค์เฟิร์ต" ... ยืนยันครับว่าเธอยังน่ารักเหมือนในรูป

ถอดหน้ากากแล้ว น้อง "แตงโม" ก็สวยสดใสยิ้มฟันขาวเรียงกัน 32 ซี่อย่างที่เห็น หน้ากากและชุดแฟนซีในภาพเป็นแบบพิมพ์นิยมสำหรับสุภาพสตรีื เรียกว่าชุดบาอุตต้า (bautta) ประกอบด้วยชุดผ้าไหมคลุมยาวสีดำ และหน้ากากประดับขนนกแบบปิดทั้งหน้า

ภาพนี้คือ "แอร์กี่" ตัวจริงเสียงจริงที่ร่วมเดินทางไปกับเราด้วย หน้ากากปากแหลมที่เธอใส่เป็นแบบดั้งเดิม เล่ากันว่าดัดแปลงจากหน้ากากที่หมอใส่สมุนไพรไว้ที่ส่วนปลายแหลม เพื่อฆ่าเชื้อในอากาศที่สูดเข้าไปในสมัยกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 14 ...ที่เห็นนั่นราคาหลายพันบาท

"น้อง" เพื่อนร่วมทางของเราอีกคนที่เดินเป็นกิโลโดยไม่ปริปากบ่นซักคำ (หมดแรงบ่นต่างหาก) แม้เธอจะไม่ชอบใส่หน้ากาก แต่ไม่วายแอ็คท่าถ่ายรูปกับหน้ากากที่มีป้ายระบุชัดเจนว่า Made in Venezia not in China ถ้าใครรู้จัก น้อง และได้เข้ามาอ่านกรุณาฝากความระลึกถึงจากกำแหงหาญไปให้เธอด้วย ฝากบอกด้วยว่าลุงไม่เห็นหน้าหนูนานแล้ว...
.............................
หน้ากากแฟนซีที่เห็นเป็นสินค้าที่ระลึกหนึ่งในประเภท "ต้องซื้อ" ของเวนิส และเป็นของคู่งานเวนิส คาร์นิวัลที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1268 แต่การใส่หน้ากากรวมถึงแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างอลังการเพิ่งมีขึ้นในทศวรรษที่ 80 นี่เองด้วยเหตุผลการท่องเที่ยว (งานผีตาโขนที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ก็เป็นงานบุญประเพณีที่ทำขึ้นใหม่ด้วยเหตุผลเดียวกัน) งานเทศกาลดังกล่าวเริ่มขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปีที่จัตุรัสซานมาโคร (ภาษาอังกฤษเรียกจัตุรัสเซนต์มาร์ค) จัตุรัสสำคัญของเมืองที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ เหล่ามิจฉาชีพ นักล้วงกระเป๋า พ่อค้าแม่ขาย นกพิราบเรือนพัน รวมถึงขี้ติดตูดของมันที่อาจหล่นลงมาแปะหัวคุณเมื่อไหร่ก็ได้
ขอได้รับความขอบคุณที่อุตส่าห์ติดตาม พบกันใหม่กับฟ้องด้วยภาพครั้งหน้า รับรองว่าหวาดเสียวมิใช่น้อยเช่นเคย...
.............................
ฟ้องด้วยภาพ: สังคมแอร์ไทย ชอบใส่หน้ากากเข้าหากัน (ไปเที่ยวด้วยกันยังไม่ละเว้น)
เรื่องและภาพโดย กำแหงหาญ