เยินเงาสลัว | จุนิจิโร ทานิซากิ

เยินเงาสลัว In Praise of Shadow | จุนิจิโร ทานิซากิ สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ แปล

ห้องสุขามักจะตั้งอยู่ห่างออกไปจากตัวเรือนใหญ่ ตรงสุดทางเดิน ในหมู่ไม้ซึ่งอบอวลไปด้วยกลิ่นใบไม้และหญ้ามอส ภาษานั้นไม่เพียงพอจะพรรณนาความรู้สึกที่ได้เมื่อนั่งอยู่ท่ามกลางแสงสลัว อิ่มอาบในแสงเรืองรองที่สะท้อนจากโชจิ รู้สึกเพลิดเพลินในห้วงสมาธิหรือเพียงแต่เหม่อมองออกไปนอกสวน

นักประพันธ์ชื่อนัสสุเมะ โซเซกิถือว่า การไปห้องสุขาทุกเช้าเป็นความสุขอันใหญ่หลวง และเรียกประสบการณ์นี้ว่า “ความรื่นรมย์ทางสรีระ” แน่นอนทีเดียวไม่มีที่อื่นใดเหมาะแก่การเสวยสุขดังกล่าวมากกว่าห้องสุขาญี่ปุ่น ซึ่งห้อมล้อมไปด้วยฝาผนังอันสงบและเป็นไม้ที่ขึ้นลายงดงาม มีท้องฟ้าสีครามให้ชื่นชม อีกทั้งใบไม้สีเขียวให้เมียงมอง

เยินเงาสลัว ความเรียงเล็ก ๆ เล่มนี้กล่าวถึงความงามในเงาสลัวตามแบบชาวตะวันออก ทานิซากิออกตัวว่า “เราไม่ได้รังเกียจทุกสิ่งที่ทอประกายแวววับ แต่เราเลือกนิยมความเรืองรองอันนุ่มนวลลึกล้ำมากกว่าความเจิดจ้าอันผิวเผิน”

เขาพูดถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่คืบคลานเข้ามา เช่น พัดลม สุขภัณฑ์ เตาผิง ปากกา กระเบื้อง ไฟฟ้า ซึ่งกลืนกินอัตลักษณ์แห่งความงามดั้งเดิมไป เขาตั้งข้อสงสัยว่าทำไมญี่ปุ่นไม่ออกแบบสิ่งเหล่านี้เองโดยคำนึงถึงความเหมาะสม นิสัยและรสนิยมตนให้มากกว่านี้

ในสายตาของทานิซากิ ชาวตะวันตกชอบสีของแสงสว่าง สร้างทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทำลายเงาสลัวเสียสิ้น ถ้วยชามข้าวของต้องขัดให้แวววาว แม้แต่ผีฝรั่งลำตัวยังโปร่งแสง ใสราวกับแก้ว แต่ชาวตะวันออกกลับนิยมความสุกใสแห่งความเก่าแก่ คราบสีหม่น แสงทึมมัว รอความงดงามจากอายุการใ้ช้สอย ซึ่งบ่งบอกความสงบสงัดนิ่งโดยสมบูรณ์

ทานิซากิโอดครวญดั่งคนแก่ เนื้อหากระโดดไปมาตามความคิดคำนึง หนังสือของเขาก็อย่างพรรณนา ความงามไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นได้ในเงาสลัว ความงามในแสงสว่างและความมืดที่เกิดจากสิ่งหนึ่งตั้งรับกับอีกสิ่งหนึ่งประกอบกัน ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะแปรสภาพเป็นที่ว่างเปล่าอันไร้ความหมาย..

จุนิจิโร ทานิซากิ มีผลงานประพันธ์มากมาย เชิญตามไปอ่านดินแดนแห่งเงาสลัวได้ในวรรณกรรมของเขา เยินเงาสลัว ต้นฉบับพิมพ์ในปี 1933 (พ.ศ. 2476) ฉบับภาษาไทย พ.ศ. 2528 และล่าสุดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คส์